วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไฟโตเอสโตรเจน


ไฟโตเอสโตรเจน  คือ  สารประกอบตามธรรมชาติที่พบได้ในพืช ต่มีคุรสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า   เอสโตรเจน  และเนื่องจากไฟโตเอสโตรเจน  เป็นส่วนประกอบของพืชอาหารที่เรารับประทานอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  (ถั่วเหลือง  ผัก  ผลไม้  และเมล็ดธัญพืชต่างๆ)  จากการศึกษาพบว่า  สารไฟโตเอสโตรเจนที่พบในอาหารตามธรรมชาติ  อาจมีผลในการช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน  เช่น  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคกระดูกพรุน  และอาการหลังหมดประจำเดือน

แหล่งที่พบว่ามีสารไฟโตเอสโตรเจนในอาหาร  มี  3  กลุ่มหลัก  คือ

1.  ไอโซฟลาโวน   พบมากในพืชจำพวก  ผัก  ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น  ถั่วเหลือง  ถั่วเขียว  ถั่วแดง  ถั่วดำ  และ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง  เช่น  เต้าหู้  นมถั่วเหลือง

2.  ลิกแนน  พบมากในผลไม้  ผักประเภทถั่ว  เมล็ดข้าว  งา  เมล็ดพืชที่ให้น้ำมัน

3.  คิวเมสแทน  พบได้ในอาหารจำพวกเดียวกันกับลิกแนน  แต่พบมากที่สุดในเมล็ดพืชที่เพิ่งงอก  เช่น  ถั่วงอก  ถั่วเหลืองงอก (ถั่วงอกหัวโต)  ถั่วอัลฟาฟ่า

อาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน

1.  กลุ่มถั่วต่างๆ  เช่น ถั่วเหลือง  เกาลัด  ถั่วพิสตาชิโอ  วอลนัท  เม็ดมะม่วงหิมพานต์  ถั่วเฮเซล  ถั่วเลนทิล  ถั่วเขียว  ถั่วแดง  ถั่วดำ  เมล็ดทานตะวัน  ถั่วลิสง  จมูกข้าวต่าง ๆ
2.  กลุ่มผักต่างๆ  เช่น  ถั่วงอก  ถั่วงอกหัวโต  ถั่วลันเตา  กระเทียม  บรอคโคลี  ผักกาด  หัวหอม  กะหล่ำปลี  ดอกกะหล่ำ  แครอท  แตงกวา  แอสพารากัส  มะเขือ  มะเขือเทศ  ต้นกระเทียม  ผักสลัด  พริกหวาน 
3.  กลุ่มผลไม้ต่าง ๆ  เช่น  ลูกพรุนแห้ง  ลูกพีช  ลูกพลัม  สตรอเบอรี่  ราสเบอรี่

ประโยชน์ของไฟโตเอสโตรเจน

                 มีการศึกษาทางระบาดวิทยาอย่างกว้างขวางถึงประโยชน์ของไฟโตเอสโตรเจนในอาหารสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  โดยการเปรียบเทียบ หญิงชาวเอเชียกับหญิงชาวตะวันตก  ซึ่งหญิงชาวเอเซียโดยปกติจะรับประทานอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนมากกว่าหญิงชาวตะวันตก  พบว่า  หญิงชาวเอเชียมีอาการหลังการหมดประจำเดือนและมีอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมต่ำกว่าหญิงชาวตะวันตก
                 การรับประทานอาหารเพื่อให้ได้ไฟโตเอสโตรเจนเพื่อลดอาการหลังหมดประจำเดือนและลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลายชนิด  ควรรับประทานอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนเป็นประจำ  แหล่งของไฟโตเอสโตรเจนที่ดี  คือ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง  เช่น  เต้าหูต่างๆ เพื่อการมีภาวะโภชนาการที่ดีของผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนควรรับประทานอาหารโดยยึดหลักอาหาร  5  หมู่  และในแต่ละหมู่ให้มีความหลากหลายและเลือกอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนในอาหารประจำวัน

จากบทความ
1. แพทย์หญิงสายพิณ  โชติวิเชียร  กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีโภชนาการ
2. สุมิตร  จันทร์เงา  หนังสือพิมพ์มติชน  ฉบับ 355  ปีที่  17  วันที่  15  มีนาคม  2548
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีวัฒนา  ทรงจิตสมบูรณ์  สรุปจาก website หมอชาวบ้าน